ภาพประกอบบทความที่คุณเห็นอยู่นี้ มีภาพหนึ่งที่ไม่ได้สร้างขึ้นโดยมนุษย์ คุณเดาได้ไหมว่าเป็นภาพไหน
*มีเฉลยท้ายบทความ*
Tech By True Digital ครั้งนี้ เราจะพาไปสำรวจการทำงานของ AI ว่า นอกเหนือจากการทำงานที่เลียนแบบระดับการรับรู้และประมวลผลสติปัญญาแบบมนุษย์ (Cognitive Functions) แล้ว AI ยังถูกพัฒนาให้ก้าวเข้ามายังดินแดนของความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ (Emotive Area) ในแง่มุมใดที่เราอาจไม่เคยคาดคิดได้บ้าง
Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ เคยถูกมองว่าไม่สามารถเข้ามาทดแทนมิติที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิด หรืองานสร้างสรรค์ที่ต้องใช้ความสุนทรียภาพทางอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในวันนี้ คำกล่าวนี้อาจไม่เป็นจริงอีกต่อไป เมื่อเราได้เห็นการทำงานของ AI ที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ใช้ความรู้สึกนึกคิดมากขึ้น แม้กระทั่งภาพประกอบของบทความนี้ก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากโปรแกรมสร้างภาพศิลปะโดยปัญญาประดิษฐ์จากข้อความที่ถูกป้อนเข้าไป AI ในทุกวันนี้จึงมีอีกมิติที่เป็นมากกว่าเทคโนโลยีทรงพลังของอัลกอริธึม เป็นมากกว่ากลไกหลักของหุ่นยนต์ในภาคการผลิตและบริการ มากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะในบ้าน มากกว่าการอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่ง แต่ได้เข้ามาสู่ชีวิตของเราในมิติของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตจิตใจ และความศรัทธา
AI กับศาสนา
องค์กรทางศาสนาหลายองค์กรเริ่มใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่คำสอน เช่น แอปพลิเคชันที่ช่วยในเรื่องการอ่านคำสวดมนต์และตารางการสวดมนต์ประจำวัน หรือ หุ่นยนต์ Peppa ในญี่ปุ่นเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและพิธีศพ และล่าสุด AI ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนาในอีกระดับ เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียวโตได้สร้าง AI ‘Buddhabot’ ให้คนแชทคุยกับพระพุทธเจ้าผ่านมือถือได้ทุกที่ทุกเวลาเกี่ยวกับความกังวลในปัจจุบันและประเด็นทางสังคมต่าง ๆ
ทีมนักวิจัยใช้อัลกอริธึมที่ชื่อว่า “BERT” ของ Google ในการพัฒนา Bhuddhabot โดยป้อนข้อมูลพระไตรปิฎกเข้าไปในระบบ โดยมีพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์พุทธที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อันมีเนื้อหาประกอบด้วยพระวินัยปิฏก พระสุตตตันปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก หรือที่เรียกย่อว่า พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เป็นเนื้อหาหลัก ที่ทำให้ AI ‘Buddhabot’ สามารถตอบได้ถึง 1,000 คำตอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อหาและข้อความคำปรึกษาของผู้ใช้งาน
ทั้งนี้ เนื้อหาของคำตอบนั้นจะเหมือนกันโดยไม่เกี่ยวกับอายุหรือเพศของผู้ใช้ อาทิ “ฉันจะมีความสุขกับตัวเองในทุกวันได้อย่างไร เมื่อฉันไม่สามารถออกไปดื่มสังสรรค์ข้างนอกได้เพราะไวรัสโควิด-19” พระพุทธเจ้าใน AI ‘Buddhabot’ จะตอบว่า “การจะมีชีวิตที่สงบ สะอาดได้นั้น ต้องชำระตัวเองให้บริสุทธิ์ก่อน มีน้ำใจต่อกัน และใช้เวลากับคนที่สะอาดบริสุทธิ์เช่นกัน”
ผู้ใช้งานสามารถป้อนคำถามได้ทั้งทางข้อความและเสียง โดยพระพุทธเจ้าบนหน้าจอสมาร์ตโฟนก็จะตอบคำถามนั้น ๆ เหมือนได้สนทนากับพระพุทธเจ้าจริง ๆ ซึ่ง AI ‘Buddhabot’ เป็นการผสมผสานเทคโนโลยี AI ผ่านระบบการสนทนา และเทคโนโลยี AR ผ่านฟังก์ชันกล้อง ที่ทำให้ในขณะที่ใช้งาน ผู้ใช้จะเห็นภาพของพระพุทธเจ้าลอยอยู่บนพื้นหลังที่เป็นสถานที่จริงที่ผู้ใช้งานอยู่ ณ ขณะนั้น

ปัจจุบัน AI ‘Buddhabot’ เปิดให้ใช้บริการในโอกาสพิเศษเท่านั้น เนื่องจากการใช้ AI ในมิติศาสนาอาจยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว ทีมวิจัยจึงวางแผนจะเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อพัฒนาเวอร์ชันที่สมบูรณ์ที่สุด และสามารถสร้างความเข้าใจให้กับสังคมเกี่ยวกับการใช้รูปพระพุทธเจ้าแบบ AR ใน AI ‘Buddhabot’ ได้ดีแล้วเสียก่อน โดยทีมนักวิจัยมองว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนา AI ‘Buddhabot’ นั้นก็เพื่อช่วยเรื่องวิกฤติการเข้าถึงศาสนาพุทธที่ลดลงจากปริมาณการเข้าวัดของคนญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันยังเป็นที่พึ่งของผู้คนในปัจจุบันที่มีความวิตกกังวลและความเครียดเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 หรือวิกฤติอื่น ๆ ของสังคมโลก ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มในการตอบคำถามเกี่ยวกับความกังวลโดยอัตโนมัติจากมุมมองทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการผสมผสาน ความศรัทธา เข้ากับเทคโนโลยี AI และ Metaverse ด้วย
AI กับศิลปะ
เดิมทีนั้นงานศิลปะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของงานที่เทคโนโลยียังไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ เนื่องจากเป็นงานจำเพาะที่ต้องใช้อารมณ์ ความรู้สึก ความชำนาญและความเป็นเอกลักษณ์ในการถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นหนึ่ง แต่การมาถึงของแพลตฟอร์มที่พัฒนาโปรแกรมสร้างภาพศิลปะโดยปัญญาประดิษฐ์จากข้อความหรือที่เรียกว่า AI Art อาทิ Midjourney ของ Leap Motion, DALL-E ของ OpenAI และ Imagen ของ Google ก็สั่นสะเทือนวงการศิลปะไม่น้อย เพราะแม้แต่คนที่ไม่มีความสามารถในการวาดภาพเลย ก็สามารถมีผลงานศิลปะเป็นของตัวเองได้ และยังเป็นภาพที่เหมือนศิลปินมารังสรรค์เอง บางโปรแกรมมีความละเอียดของฝีแปรงเหมือนคนวาดภาพขึ้นมาเองจริง ๆ โดยแยกออกได้ยากว่าเป็นฝีมือของคนหรือ AI

AI Art ทำงานโดยใช้เทคโนโลยี Text-to-Image Generator ที่ให้ AI เรียนรู้จากชุดข้อมูลรูปภาพจำนวนมหาศาลที่ถูกป้อนเข้าไปให้ AI ฝึกฝน โดยประมวลผลว่าในภาพนั้นมีอะไรบ้าง ออกแบบในสไตล์ไหน โดยจะมีข้อความหรือคำอธิบายของรูปนั้น ๆ เพื่อให้ Machine Learning เรียนรู้จากชุดข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป จากนั้นเมื่อมีผู้ใช้งานที่ต้องการภาพศิลปะ เข้าไปยังแพลตฟอร์ม AI Art แล้วพิมพ์ข้อความหรือคีย์เวิร์ดที่อยากให้มีในภาพ หรือบรีฟว่าต้องการให้ภาพออกมาเป็นอย่างไร เป็นสไตล์แบบไหน AI ก็จะสร้างภาพออกมาจากชุดข้อมูลที่ถูกเรียนรู้ ออกมาเป็นตัวเลือกงานศิลปะให้ผู้ใช้งานเลือกใช้ หรือปรับแต่งจนเป็นที่พอใจ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI Art จะสามารถรังสรรค์ผลงานศิลปะออกมาได้ ชนิดที่ว่ามีคนสามารถนำไปทำเงินได้จริง ก็ยังมีข้อถกเถียงที่ผู้พัฒนาโปรแกรมเหล่านี้ต้องออกมาตอบคำถามและแสดงจุดยืน รวมถึงวางแผนในอนาคตของการมีอยู่ของ AI Art ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ลิขสิทธิ์ของภาพวาด เนื่องจาก AI Art คือการนำผลงานศิลปะของศิลปินหลาย ๆ ภาพที่มีลิขสิทธิ์ไปเป็นภาพต้นแบบในการพัฒนา ดังนั้นภาพ AI Art ที่ถูกออกแบบมาจากโปรแกรมเหล่านี้จึงมีความผสมผสานของภาพที่มีลิขสิทธิ์อยู่ ในขณะเดียวกันสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปินเหล่านั้นก็ปรากฏอยู่ใน AI Art ได้อย่างง่ายดาย เผลอ ๆ อาจมีกลิ่นอายของภาพต้นฉบับราวกับว่าเป็นผลงานของศิลปินผู้นั้นเสียเอง
ในกรณีเช่นนี้ AI Art จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้หรือไม่ ความเป็นเอกลักษณ์ที่แท้จะถูกนิยามอย่างไรในเมื่อศิลปิน AI Art ก็อาจกล่าวได้ว่าศิลปะเหล่านี้เกิดจากการป้อนข้อความของเขาไม่ได้ลอกใครมา สไตล์ที่ติดมาจากภาพต้นฉบับถือเป็นของใคร รวมถึงการนำไปใช้ให้ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือการสร้างสรรค์ผลงานออกมาจากชุดข้อมูลที่อาจเกิดความอ่อนไหวต่อสังคมในประเด็นต่าง ๆ เป็นต้น โดยล่าสุด Getty Image ก็ออกมาประกาศห้ามขายภาพศิลปะที่วาดโดย AI บนแพลตฟอร์มแล้วเนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อการนำภาพไปใช้ได้ อนาคตของ AI Art จึงไม่ควรถูกมองข้ามว่าเป็นเพียงเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานในการสร้างสรรค์ศิลปะเพียงชั่วครั้งคราว หากจำเป็นต้องมีการตั้งมาตรฐานให้กับเทคโนโลยีประเภทนี้
AI กับการแต่งเพลง
ไม่ต่างจากการทำงานของ AI Art ที่ใช้วิธีการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับเพลงและดนตรีเข้าไปเพื่อให้ AI ฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อให้มีความสามารถในการแต่งเพลงความยาวตั้งแต่ท่อนเดียวไปจนจบเพลง โดยที่ผู้ใช้งานเลือกแนวเพลงที่ต้องการ สไตล์ดนตรี ความเร็วของเพลง หรือแม้แค่เพียงฮัมจังหวะที่ต้องการ AI ก็จะรังสรรค์เพลงออกมาให้ทันที หรือแม้แต่การจำลองการแต่งเพลงของศิลปินที่มีชื่อเสียง ด้วยการป้อนข้อมูลเพลงของศิลปินเข้าไปเพื่อให้ Machine Learning เรียนรู้ว่าศิลปินคนไหนมีสไตล์การแต่งเพลงแบบไหน จากนั้นลองจับคู่ความต้องการของผู้ใช้งานและศิลปินเพื่อให้ออกมาเป็นเพลงใหม่ในสไตล์ของศิลปินคนนี้
ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มชื่อ Mubert ที่ขายแนวทางการทำเพลงจาก AI ว่า ‘เป็นการฟังเพลงแห่งอนาคต’ ด้วยการให้ผู้ใช้งาน บอกอารมณ์ ณ เวลานั้นหรือกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ จากนั้นจึงป้อนคำสั่งให้ AI สร้างเพลงใหม่ขึ้นมาเป็น Playlist ที่เหมาะกับอารมณ์ในเวลานั้น โดยที่ยังมีการสร้างเพลงใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ จากการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากความชอบของผู้ฟังว่าเพลง ดนตรี หรือสไตล์แบบไหนที่น่าจะเป็นเพลงใหม่ ๆ ที่ผู้ฟังน่าจะชอบ

AI กับเสียงในใจ
ปัญหาสุขภาพกาย อาจถูกตรวจพบได้ด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยหลากหลายชนิดตั้งแต่ปรอทวัดไข้ ไปจนถึงเครื่อง MRI แต่สำหรับสุขภาพใจแล้วนั้น บุคลากรด้านจิตวิทยายังคงใช้ ‘การฟัง’ เป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งฟังสิ่งที่ผู้เข้ารับการปรึกษาพูดและฟังวิธีที่พวกเขาพูดระหว่างการสนทนา เพื่อประเมินปัญหาทางสุขภาพจิต เพราะบ่อยครั้งที่ผู้เข้ารับการปรึกษาอาจไม่ได้พูดทุกสิ่งที่เป็นปัญหาของตัวเองจริง ๆ วิธีการพูดและน้ำเสียงจะช่วยบ่งบอกสภาพจิตใจและสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี อาทิ คำพูดของผู้ที่กำลังรู้สึกหดหู่หรือเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าโดยทั่วไปมักจะเป็นเสียงโมโนโทน ราบเรียบ บางครั้งนุ่มนวล และมีช่วงระดับเสียงที่เบาและระดับเสียงที่ต่ำกว่าปกติ ในการสนทนาจะมีการหยุดมากขึ้นและหยุดบ่อยครั้ง ในขณะที่ผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล มักจะพูดเร็วและมีการหายใจไม่ทัน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีการนำ AI มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์น้ำเสียงที่สามารถทำได้นอกเหนือจากแปลความหมาย โดยบริษัทสตาร์ทอัปเกี่ยวกับสุขภาพจิต อย่าง Kintsugi Mindful Wellness ได้พัฒนา Kintsugi’s AI ซึ่งเป็น Voice Biomarker วิเคราะห์น้ำเสียงมนุษย์เพื่อตรวจหาภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล เพื่อเป็นตัวช่วยให้แพทย์ประเมินอาการควบคู่ไปกับการประเมินด้านกายภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสภาวะทางจิตใจ เช่น ประเมินการนอนหลับ หรือการใช้โซเชียลมีเดีย อีกด้วย

Kintsugi’s AI ถูกพัฒนาโดยอ้างอิงการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า รูปแบบและลักษณะทางภาษาบางอย่างในเสียงของบุคคลสัมพันธ์กับสภาวะทางจิตเวชหรือทางระบบประสาท ด้วยการป้อนข้อมูลสัญญาณเสียง โทนเสียง กระทั่งการหายใจระหว่างการออกเสียง เพื่อช่วยในการประเมินสุขภาพจิต อาทิ ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล โรคจิตเภทบางอาการ และโรค PTSD หรือโรคที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย ซึ่ง Machine Learning ของ Kintsugi’s AI นั้นมีศักยภาพที่จะสามารถรับคุณสมบัติเสียงที่หูมนุษย์อาจจะพลาดไปได้จากบทสนทนาได้เป็นอย่างดี
Kintsugi’s AI ใช้เวลาเพียง 20 วินาทีในการประเมินจากน้ำเสียงของผู้เข้ารับการปรึกษา โดยประเมินออกมาเป็นคะแนนของแบบประเมินภาวะซึมเศร้า (PHQ-9) และ แบบวัดความวิตกกังวล (GAD-7) ซึ่งเป็นแบบทดสอบชนิดเดียวกับที่ใช้ในการทดสอบผู้เข้ารับคำปรึกษาแบบตัวต่อตัว เพื่อให้บุคลากรด้านจิตวิทยาใช้ในการประเมินร่วมว่าผู้เข้ารับการปรึกษาควรทำแบบทดสอบด้วยตัวเองเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และควรส่งต่อไปยังการรักษาประเภทใดที่จะเหมาะสมที่สุด ซึ่งถือเป็นการให้คำแนะนำเชิงรุกเกี่ยวกับการบรรเทาอาการของผู้เข้ารับการปรึกษา และแม้ว่า Kintsugi’s AI จะไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแทนที่แพทย์หรือการประเมินทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยคัดกรอง เพื่อช่วยสร้างมุมมองแบบ 360 องศาให้กับบุคลากรด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเข้ารับการปรึกษาทางจิตวิทยาในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปในรูปแบบทางไกล (Telemedicine) ที่การเห็นหน้าค่าตาเพื่ออ่านความรู้สึกอาจเป็นข้อจำกัด
อย่างไรก็ตาม การใช้ AI เพื่อรับความรู้สึกจากเสียงเพื่อวิเคราะห์สภาพจิตใจของมนุษย์นั้นแม้จะเป็นตัวช่วยสำคัญ แต่ยังมีโจทย์ใหญ่ในเรื่องอคติจากความเชื่อมั่นในความแม่นยำของ AI ในการประเมินสุขภาพจิตและการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเสียงที่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องก้าวผ่านให้ได้ในอนาคต
ตัวอย่างเหล่านี้เผยให้เห็นถึงแง่มุมที่ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในมิติด้านอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น จากที่เคยเชี่ยวชาญอยู่ในมุมของของสติปัญญาและการเรียนรู้ ซึ่งอาจทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือแทนที่งานที่ตนเองเคยเชี่ยวชาญอยู่หรือไม่ หรือตั้งคำถามว่าเราเองจะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างสมดุลได้อย่างไร ทักษะที่ตนเองเคยมีอยู่หากถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอาจเป็นโอกาสที่ดีให้เราได้เพิ่มเติมทักษะอย่างอื่นที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพของตนเอง และได้ทำงานที่มีความหมายมากขึ้นและได้มีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ ที่สุดแล้วแม้เทคโนโลยีจะคืบคลานเข้ามาในมิติอันหลากหลายของชีวิต แต่ไม่อาจแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอย่างไรก็ตาม อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตจิตใจ และความศรัทธาก็ยังเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราอยู่เสมอ
*เฉลย* ภาพประกอบบทความบนสุด ภาพที่ 1 ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยมนุษย์ ส่วนภาพที่ 2 ถูกสร้างโดย AI ผ่านแพลตฟอร์ม Dall-E ซึ่งมาจากชุดคำสั่งเดียวกันคือ a bowl of soup + as a planet in the universe + as digital art
#ArtificialIntelligence
#AI
#AIArt
#Buddhabot
#MachineLearning
#VoiceBiomarker
#TechByTrueDigital
อ้างอิง:
https://www.wired.com/story/when-ai-makes-art
https://www.theverge.comhttps://www.nytimes.comhttps://www.forbes.com